ข้อมูลพัฒนาการท่องเที่ยว
ผู้รับผิดชอบ : กลุ่มสารสนเทศด้านเศรษฐกิจ โทรศัพท์ :0-2141-7398
วันที่จัดทำ : วันที่ 11 กันยายน 2561
กรอบแนวคิด
- การท่องเที่ยวในระดับสากลปัจจุบันยังมีการเติบโตในทางบวกอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยผลักดันที่สำคัญ ได้แก่ ต้นทุนของการท่องเที่ยวที่ลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้งานวิจัยระดับสากลหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นข้อสรุปที่ตรงกันว่าการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจโลกสามารถเติบโตไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศกำลังพัฒนาที่จะกลายเป็นประเทศเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวโลกมากขึ้น ส่วนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวโลกพบว่านักท่องเที่ยวสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์จากการท่องเที่ยวและมีความเต็มใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อแสวงหาประสบการณ์ที่แตกต่างและสอดคล้องตามความต้องการเฉพาะด้านของนักท่องเที่ยวแต่ละราย
- นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลการท่องเที่ยว อ่านต่อ...

กรอบแนวคิด
- นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
- เมื่อพิจารณานโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องจากกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และคำแถลงนโยบายที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในแนวทางต่างๆ ดังนี้
- 1. กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579
- ตามแนวทางพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช 2560 มีวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีรายได้สูงอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เมื่อวิเคราะห์แล้วมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยตรงดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
- หัวข้อ 2.1 การพัฒนาภาคการผลิตและบริการ
- ข้อย่อย 2.1.4 พัฒนาความหลากหลาย คุณภาพ และสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวโลก ที่มีความเป็นมืออาชีพและสร้างความประทับใจที่คุ้มค่ากับนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยต้องเน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สามารถสร้างรายได้ จากการท่องเที่ยวที่สูงขึ้นให้กับประเทศ
![]()
- ภาพการพัฒนาความหลากหลาย คุณภาพ และสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวไทย
- อ้างอิง : http://www.nesdb.go.th/download/document/ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ2560 - 2579).pdf
- 2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564
- คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นแผนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ให้ประกาศใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 จนถึง 30 กันยายน 2564 โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไว้ 10 ยุทธศาสตร์ เมื่อวิเคราะห์แล้วมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ 1การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
- หัวข้อที่ 3 แนวทางการพัฒนา
- ข้อย่อย 3.5 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบสุขภาพภาครัฐและปรับระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ โดยระบุในข้อ 3.5.3) ให้มีการพัฒนาระบบประกันสุขภาพของแรงงานต่างชาติและนักท่องเที่ยวให้สามารถใช้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมีการควบคุมการใช้บริการอย่างเหมาะสม โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศทั้งในด้านการคลังและสาธารณสุข
- ยุทธศาสตร์ที่ 2การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
- หัวข้อที่ 3 แนวทางการพัฒนา
- ข้อย่อย 3.3 เสริมสร้างศักยภาพชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และการสร้างความเข้มแข็งการเงินฐานรากตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีสิทธิในการจัดการทุน ที่ดิน และทรัพยากรภายในชุมชม โดยระบุในข้อ 3.3.3) ให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยว
- ยุทธศาสตร์ที่ 3การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
- หัวข้อที่ 3 แนวทางการพัฒนาที่มีความสำคัญสูงและสามารถผลักดันสู่การปฏิบัติ
- ข้อย่อย 3.2 การเสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ โดยระบุในข้อ 3.2.3) การพัฒนาภาคบริการและการท่องเที่ยว มีรายละเอียดข้อย่อยโดยย่อดังนี้
- 1) เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในเชิงธุรกิจของภาคบริการที่มีศักยภาพทั้งฐานบริการเดิมและฐานบริการใหม่เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง
- 2) พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ
- 3) พัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาอย่างครบวงจร
- ยุทธศาสตร์ที่ 4การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
- หัวข้อที่ 3 แนวทางการพัฒนาที่มีความสำคัญสูงและสามารถผลักดันสู่การปฏิบัติ
- ข้อย่อย 3.1 การรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างสมดุลของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม โดยระบุในข้อ 3.1.1) อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้เพื่อสร้างสมดุลธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และข้อ 3.1.4) ปกป้องทรัพยากรทางทะเลและป้องกันการกัดเซาะตลิ่งและชายฝั่ง เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติให้คงความสมบูรณ์และสวยงามตลอดไป โดยใช้แนวคิดการจัดการระบบกลุ่มหาด (Littoral Cell)
- ข้อย่อย 3.3 แก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยระบุในข้อ 3.3.4) ปรับปรุงกฎหมายและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองเพื่อรองรับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาเมืองสีเขียว ที่ดำเนินการอยู่แล้วในลักษณะนำร่อง อาทิ เมืองน่าอยู่ เมืองคาร์บอนต่ำ เมืองอัจฉริยะ เมืองอุตสาหกรรมนิเวศ เมืองเกษตรสีเขียว หรือเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
- ข้อย่อย 3.4 ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยระบุในข้อ 3.4.3) ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ
- ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
- หัวข้อที่ 3 แนวทางการพัฒนา
- ข้อย่อย 3.1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง โดยระบุในข้อ 3.1.3) พัฒนาโครงข่ายทางถนน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ
- ข้อย่อย 3.3 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โดยระบุในข้อ 3.3.1) พัฒนาและยกระดับมาตรฐานระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้ได้มาตรฐานสากลและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการผลิตและการท่องเที่ยว
- ข้อย่อย 3.6 การพัฒนาระบบน้ำประปา โดยระบุในข้อ 3.6.1) พัฒนาระบบน้ำประปาให้ครอบคลุมและทั่วถึง ให้สามารถรองรับกับปริมาณความต้องการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ในเขตภูมิภาคที่มีความพร้อมด้านแหล่งน้ำ แต่ประชาชนยังไม่ได้รับบริการน้ำประปาสำหรับใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในพื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
- ยุทธศาสตร์ที่ 8การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม
- หัวข้อที่ 3 แนวทางการพัฒนา
- ข้อย่อย 3.3 พัฒนาสภาวะแวดล้อมของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม โดยระบุในข้อ 3.3.3) ด้านการบริหารจัดการ สนับสนุนการจัดทำแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยี (Technology Roadmap) และแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมรายสาขา รวมถึงสาขาการท่องเที่ยว
- ยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ
- หัวข้อที่ 3 แนวทางการพัฒนา
- ข้อย่อย 3.1 การพัฒนาภาค เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กระจายตัวอย่างทั่วถึง โดยระบุรายละเอียดเป็นการพัฒนาโดยรวมในแต่ละภาครวมถึงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว
- อ้างอิง: http://www.nesdb.go.th/ewt_news.php?nid=6420
- 3. คำแถลงนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557
- คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยมีหัวข้อที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว ดังนี้
- หัวข้อที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ
- ข้อย่อยที่ 3.2 ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง การทารุณกรรมต่อแรงงานข้ามชาติ การท่องเที่ยวที่เน้นบริการทางเพศและเด็ก และปัญหาคนขอทานโดยการปรับปรุงกฎหมายข้อบังคับที่จำเป็นและเพิ่มความเข้มงวดในการระวังตรวจสอบ
- หัวข้อที่ 6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
- ข้อย่อยที่ 6.6 ชักจูงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย โดยพิจารณามาตรการลดผลกระทบจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ที่มีต่อการท่องเที่ยวในโอกาสแรกที่จะทำได้ และสร้างสิ่งจูงใจและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกื้อกูลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวอันมีลักษณะโดดเด่นร่วมกันหรือจัดเป็นกลุ่มได้เช่น กลุ่มธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งจะให้เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากวิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเดิมและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยเน้นการให้ความรู้และเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การควบคุมสินค้าและบริการให้มีคุณภาพราคาเป็นธรรม ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยว
- อ้างอิง : https://www.opdc.go.th/Law/File_download/law19957.pdf
องค์ความรู้
- แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 – 2564
- คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) มีอำนาจและหน้าที่หลักในการส่งเสริมการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาฉบับแรกของประเทศไปแล้ว คือ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2555 – 2559 เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศในระยะ 5 ปี โดยแผนพัฒนาการท่องเที่ยวฉบับดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา แม้จะประสบผลสำเร็จในการเพิ่มจำนวน และรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ยังประสบปัญหาและอุปสรรคสำคัญหลายประการ ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งปัจจัยภายใน เช่น สถานการณ์การเมืองของประเทศ นโยบายของภาครัฐ การปรับตัวของภาคเอกชน และปัจจัยภายนอก เช่น สภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคาดหวังของนักท่องเที่ยว แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาการท่องเที่ยว 20 ปี และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยยังคงบทบาทการเป็นสาขาหลักในการรักษาเสถียรภาพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
- 1. ด้านศักยภาพและโอกาสของการท่องเที่ยวไทย
- ในปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงสูงทั้งทางด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นและการได้รับข่าวสารความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก 5 ประการ ที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างมีนัยสำคัญ
![]()
- 2. วิสัยทัศน์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2579 (วิสัยทัศน์ 20 ปี)
- “ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลกที่เติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานความเป็นไทยเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน” โดยมีแนวคิดหลักในการพัฒนาตามองค์ประกอบ 5 ประการ ดังนี้
- 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564)
- กำหนดแผนการพัฒนาเพื่อเป้าหมายการยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพอย่างยั่งยืน สอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) โดยกำหนดไว้ 5 ยุทธศาสตร์ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุล และยั่งยืน
- ข้อย่อยที่ 1 พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว สินค้าและบริการทุกรูปแบบอย่างมีมาตรฐาน
- ข้อย่อยที่ 2 พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสินค้าและบริการอย่างยั่งยืน
- ข้อย่อยที่ 3 สร้างสมดุลในแหล่งท่องเที่ยวสินค้าและบริการ ทั้งในเชิงพื้นที่ เชิงเวลาฤดูกาล และรูปแบบการท่องเที่ยว
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
- ข้อย่อยที่ 1 พัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการท่องเที่ยว
- ข้อย่อยที่ 2 พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว
- ข้อย่อยที่ 3 พัฒนาระบบความปลอดภัยและสุขอนามัยในแหล่งท่องเที่ยว
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยว
- ข้อย่อยที่ 1 พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด
- ข้อย่อยที่ 2 ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความสมดุลให้กับการท่องเที่ยวไทย ผ่านการตลาดเฉพาะกลุ่ม การส่งเสริมวิถีไทย และการสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว
- ข้อย่อยที่ 1 เสริมสร้างภาพลักษณ์ คุณภาพ เเละความปลอดภัยให้กับประเทศไทย
- ข้อย่อยที่ 2 ส่งเสริมการตลาดเฉพาะกลุ่มเพื่อดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยว และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
- ข้อย่อยที่ 3 ส่งเสริมเอกลักษณ์ของประเทศไทยและของแต่ละท้องถิ่น
- ข้อย่อยที่ 4 ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเเละการท่องเที่ยวที่สมดุลเชิงพื้นที่เเละเวลา
- ข้อย่อยที่ 5 ส่งเสริมความร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เเละการใช้เทคโนโลยีในการทำการตลาด
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 การบูรณาการการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ
- ข้อย่อยที่ 1 ส่งเสริมการกำกับดูแลการพัฒนาเเละบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ
- ข้อย่อยที่ 2 ปรับปรุงกฎหมายข้อบังคับเเละมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และการบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจัง
- ข้อย่อยที่ 3 สนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชนเเละการจัดทำศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยว
- ข้อย่อยที่ 4 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว
นิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
คำศัพท์ ความหมาย สมาชิกของครัวเรือน หมายถึง บุคคลซึ่งอาศัยอยู่เป็นประจำในครัวเรือน รวมทั้งคนที่เคยอยู่ในครัวเรือนแต่ได้จากไปอยู่ที่อื่นชั่วคราวโดยไม่มีวัตถุประสงค์จะไปอยู่ประจำที่อื่นและมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
ก. จากไปที่อื่นชั่วคราวไม่เกิน 3 เดือน เช่น ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือผู้ที่ไปบวช (ไม่นับคนในครัวเรือนที่จากไปเพื่อเรียนหนังสือ หรือประกอบอาชีพซึ่งมีที่อยู่ประจําที่อื่น รวมทั้งผู้ต้องโทษ ผู้ถูกเกณฑ์ทหาร และคนไข้ในโรงพยาบาลโรคจิต)
ข. จากไปเกิน 3 เดือน แต่ไม่มีที่อยู่อาศัยประจำที่อื่น เช่น ไปทำงานในเรือ เซลล์แมน เป็นต้น
ค. จากไปเพื่อศึกษา อบรม ดูงานต่างประเทศไม่เกิน 6 เดือน
ง. จากไปทํางานที่อื่นชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน นับจากวันไปถึงกำหนดกลับ เช่น ผู้ที่ไปรับจ้าง ตัดอ้อย ฯลฯ นอกจากนี้สมาชิกของครัวเรือนยังรวมถึงผู้ที่มาพักอาศัยอยู่ชั่วคราวเกินกว่า 3 เดือนการเดินทางท่องเที่ยว หมายถึง การเดินทางของสมาชิกในครัวเรือนจากถิ่นที่อยู่อาศัยประจำในจังหวัดหนึ่งไปยังสถานที่ที่อยู่ในอีกจังหวัดหนึ่งเป็นการชั่วคราว โดยมีจุดประสงค์เพื่อท่องเที่ยว พักผ่อน เยี่ยมครอบครัว/ญาติมิตร ประชุมหรือสัมมนา เล่นหรือดูกีฬา ประกอบพิธีทางศาสนา รวมทั้งการเดินทางเพื่อไปรับการรักษาตัว หรือประกอบภารกิจอื่นๆ ไม่รวมการเดินทางไปทำงานหรือไปศึกษาเป็นประจำ และการเดินทางไปซื้อสินค้ามาจำหน่าย ผู้เดินทางในลักษณะดังกล่าวข้างต้นจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ
1) นักท่องเที่ยว หมายถึง ผู้เดินทางท่องเที่ยวโดยมีการพักค้างคืนอย่างน้อย 1 คืน
2) นักทัศนาจร หมายถึง ผู้เดินทางโดยไม่มีการพักค้างคืน
จำนวนครั้ง/ทริป ของการเดินทาง หมายถึง รอบระยะเวลาการเดินทางจากจุดเริ่มต้น ณ สถานที่พักอาศัยอยู่ประจำไปยังสถานที่แห่งอื่น ในต่างจังหวัด หรือต่างประเทศจนกระทั่งกลับมายังที่พักอาศัยประจําอีกครั้ง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หมายถึง การท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ/แหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นกิจกรรมสําคัญในการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน การเรียนรู้วิธีการรักษาสุขภาพกายและใจ ให้ได้ความเพลิดเพลิน มีความรู้ในการรักษาคุณค่าของคุณภาพชีวิตที่ดี กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะหลักๆ คือ
1) การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ เช่น การผ่าตัดเสริมความงามหรือทำศัลยกรรมพลาสติก การลดน้ำหนัก การตรวจสุขภาพเบื้องต้น การทำฟันและรักษาสุขภาพฟัน การทำเลสิก การเข้าคอร์สทำ D-tox หรือการล้างพิษในร่างกาย
2) การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ เช่น การนวดแผนไทย การอบ/ประคบสมุนไพร การอาบน้ำแร่/สปาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย หมายถึง การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมถึงการท่องเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติ การแสวงหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่ท้าทายโดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่มีการดำเนินการด้วยความเข้าใจ และอนุรักษ์ธรรมชาติให้ยั่งยืนไปพร้อมกับการทำกิจกรรม ท่องเที่ยวอย่างมีจิตสํานึก
- กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น การส่องสัตว์ การดูนก การชมผีเสื้อ การนั่งช้าง
- การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย เช่น การปีนผา/เขา การปั่นจักรยานเสือภูเขา การล่องแก่ง การพายเรือแคนู/เรือคายัค การเที่ยวถ้ำ
- กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย เช่น การเดินป่า การดำน้ำการท่องเที่ยวเชิงเกษตร หมายถึง การเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ชุมชนเกษตรกรรม สวนเกษตร สวนสมุนไพร ฟาร์มปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ สถานที่ราชการ ตลอดจนสถาบันการศึกษาที่มีงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางเกษตรที่ทันสมัย ฯลฯ เพื่อชื่นชมความสวยงามและได้สัมผัสกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบทขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี โดยครอบคลุมกิจกรรม เช่น การชมไร่นาต่างๆ การชมสวนผลไม้ การชมสวนดอกไม้/กล้วยไม้ การชมหมู่บ้านไม้ประดับ การชมกระบวนการผลิตใบชา การชมฟาร์มปศุสัตว์ การชมแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา หมายถึง การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเล่นกีฬา หรือการเข้าร่วมชมกีฬา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หมายถึง การท่องเที่ยวเพื่อชมสิ่งที่แสดงถึงความเป็นวัฒนธรรมประเพณี วิถีการดำเนินชีวิต ศิลปะทุกแขนง และสิ่งต่างๆ ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง การดำเนินชีวิตของบุคคลในแต่ละยุคสมัย หรือ การเข้าร่วมกิจกรรมที่เน้นศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อย่างมีความตั้งใจ การท่องเที่ยวเชิงศาสนา หมายถึง การเดินทางท่องเที่ยวไปยังศาสนสถานหรือสถานที่ที่มีความสําคัญทางศาสนา เพื่อเยี่ยมชม การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นมัสการเกจิอาจารย์ รวมไปถึงกิจกรรมด้านศาสนา เช่น การนั่งวิปัสสนา กรรมฐาน การท่องเที่ยวทางเรือ หมายถึง การท่องเที่ยวโดยมีเรือเป็นพาหนะเดินทาง ด้วยระดับความเร็วที่ไม่มากนักไปตามเส้นทางน้ำที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีวัตถุประสงค์ เพื่อการพักผ่อนและความเพลิดเพลินจากการเดินทาง เช่น การล่องเรือเพื่อรับประทานอาหาร การล่องเรือสําราญที่มีบริการที่พักบนเรืออย่างครบวงจร หรือการล่องเรือเพื่อชมการแสดงต่างๆ การล่องเรือเพื่อชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ และการล่องเรือเพื่อชมความงามของธรรมชาติ เป็นต้น การท่องเที่ยวในแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (นันทนาการและบันเทิง) เป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่หรือกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่มิได้มีความสำคัญหรือมีความสำคัญน้อยในเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา หรือวัฒนธรรม แบ่งได้เป็น 6 ประเภทดังนี้
1) ย่านบันเทิง/แหล่งบันเทิง
2) สวนสัตว์
3) สวนสนุก
4) สวนสาธารณะ/สวนสาธารณะลักษณะพิเศษ
5) พิพิธภัณฑ์เฉพาะทาง
6) แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์/อุตสาหกรรม/ เทคโนโลยีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ หมายถึง เกาะ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จุดชมวิว ซากฟอสซิล ถํ้า ทะเลสาบ/หนอง/บึง ทุ่งดอกไม้และพืชพันธุ์ นํ้าตก นํ้าพุร้อน/บ่อนํ้าร้อน/ธารนํ้าร้อน ปะการัง พรุ/ป่าชายเลน/พื้นที่ชุ่มนํ้า ภูเขา/ธรณีสัณฐานเฉพาะ แม่นํ้า/แก่ง วนอุทยาน ศูนย์วิจัย/สถานีทดลอง ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ สวนรุกขชาติ หาดทราย/ชายทะเล และอุทยานแห่งชาติ แหล่งท่องเที่ยวประเภทประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุสถาน และศาสนา หมายถึง กำแพงเมือง/คูเมือง ชุมชนโบราณ โบราณสถาน/โบราณวัตถุ ประวัติความเป็นมา พระตําหนัก/วัง/พระราชวัง/คุ้ม พิพิธภัณฑ์ ศาสนสถาน ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ อนุสาวรีย์/อนุสรณ์สถาน และอุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวประเภทศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และกิจกรรม หมายถึง เขื่อน/อ่างเก็บนํ้า โครงการหลวง งานประเพณี จุดผ่านแดน ตลาดนัด/ตลาดสด ไร่/สวนเกษตร/สถานีประมง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์หัตถกรรม สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์/ศูนย์ฝึกสัตว์/สวนสนุก สวนสาธารณะ/สวนหยอม หมู่บ้าน เหมือง ศูนย์ประชุม ศูนย์การเรียนรู้ และศูนย์กีฬา/กิจกรรมการกีฬาทางบก/ทางน้ำ - ที่มา : การสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทย สำนักสถิติเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ