ทรัพยากรน้ำ
ผู้รับผิดชอบ : กลุ่มสารสนเทศเชิงพื้นที่ โทรศัพท์ : 0-2141-7403
วันที่จัดทำ : วันที่ 9 มกราคม 2561
กรอบแนวคิด
- โลกของเราประกอบด้วยพื้นดินและพื้นน้ำ โดยส่วนที่เป็นผืนน้ำนั้น มีอยู่ประมาณ 3 ส่วน (75%) และเป็นพื้นดิน 1 ส่วน (25%) น้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งกับชีวิตของพืชและสัตว์บนโลกรวมทั้งมนุษย์เราด้วย น้ำเป็นทรัพยากรที่สามารถเกิดหมุนเวียนได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมดสิ้น
- ทรัพยากรน้ำมีความสำคัญเนื่องจากน้ำเป็นสิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ได้มีการนำน้ำมาใช้ในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ครัวเรือน นันทนาการ และกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม น้ำที่มนุษย์นำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวนั้นเป็นน้ำจืด แต่น้ำจืดในโลกเรามีเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น และปริมาณ 2 ใน 3 ของน้ำจืดจำนวนนี้เป็นน้ำแข็งในรูปของธารน้ำแข็งและน้ำแข็งที่จับตัวกันอยู่ที่ขั้วโลกทั้งสองขั้ว ปัจจุบันความต้องการน้ำมีมากกว่าน้ำจืดที่มีอยู่ในหลายส่วนของโลก และในอีกหลายพื้นที่ในโลกกำลังจะประสบปัญหาความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานของน้ำในอนาคตอันไม่ไกล
แผนภาพสารสนเทศเพื่อการบริหารข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ

องค์ความรู้
- ยุทธศาสตร์ทรัพยากรน้ำจัดทำขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีความสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- 1.นโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล (พลเอกประยุทธ์ จันโอชา, 2557)
- ข้อ 6 เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
- (6.8) แก้ปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนทั้งที่ท่วมเป็นบริเวณกว้างและท่วมเฉพาะพื้นที่ และปัญหาขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่และบางฤดูกาล ซึ่งนำความเสียหายและทุกข์ร้อนมาให้แก่เกษตรกร โดยระดมความคิดเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงดังเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 และหาวิธีที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ให้ลดลงโดยเร็วและไม่กระทบต่อพืชผล ส่วนภาวะภัยแล้งจนเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนั้น รัฐบาลจะเร่งดำเนินการจัดสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กให้กระจายครอบคลุมทั่วพื้นที่เพาะปลูกให้มากที่สุด ซึ่งจะสามารถทำได้ในเวลาประมาณ 1 ปี
- ข้อ 9 การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
- (9.4) บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของประเทศให้เป็นเอกภาพในทุกมิติ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จัดให้มีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของประเทศและมีกระบวนการบูรณาการแผนงานและงบประมาณร่วมกันของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจัดทำ แผนงาน โครงการ ไม่เกิดความซ้ำซ้อน มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับทิศทางและนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยจัดตั้งหรือกำหนดกลไกในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในระบบของการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัย
- 2. ยึดแนวทางตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี) และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, 2555)
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำจำกัดความของน้ำคือชีวิต ดั่งพระราชดำรัสว่า “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...” จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเรื่องน้ำ จำแนกเป็น 3 ด้านคือ น้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย จึงนำมาซึ่งแนวทางพระราชดำริในการแก้ปัญหาน้ำ ที่สำคัญดังนี้
- 1. การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ
- 2. การแก้ปัญหาน้ำท่วม
- 3. การแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ
- ประโยชน์ที่ได้รับจากแนวพระราชดำริเรื่องน้ำ
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม ดังนี้
- 1. ช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง หรือทำการเพาะปลูกครั้งที่สองได้อันเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตและทำให้ราษฎรมีรายได้มากขึ้น
- 2. บางท้องที่ที่เคยมีน้ำท่วมขังจนไม่สามารถเพาะปลูก หรือปลูกแล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น บริเวณขอบพรุ ทำให้พื้นดินแห้งลง จนสามารถจัดสรรพื้นที่ดังกล่าว ให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเข้าไปทำกินได้เพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นไปบุกรุกทำลายป่าเพื่อหาที่ทำกิน เป็นการช่วยรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของชาติไว้ได้
- 3. เมื่อมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ไว้ ก็มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงไป ทำให้ราษฎรตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงสามารถมีปลาบริโภคภายในครอบครัวหรือจับขายเพื่อเสริมรายได้ได้
- 4. ช่วยให้ราษฎรมีน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียงตลอดปี ทำให้ราษฎรมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น และยังช่วยให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ด้วย
- 5. บางโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ช่วยลดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งกับภาคเอกชนและภาครัฐบาล
- 6. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ช่วยให้ราษฎรที่อยู่ในป่าเขาและในท้องที่ทุรกันดารได้มีไฟฟ้าไว้ใช้สำหรับแสงสว่างในครัวเรือน
- 7. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร โดยการสร้างฝายเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำเป็นชั้นๆ พร้อมระบบกระจายน้ำจากฝายต่างๆ ไปสู่พื้นที่สองฝั่งของลำธาร ส่งผลให้พื้นดินและป่าชุ่มชื้น มีลักษณะเป็นป่าเปียก ซึ่งจะช่วยป้องกันไฟป่าเป็นแนวกระจายไปทั่วบริเวณต้นน้ำลำธาร ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป
- ประเภทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรื่อง “น้ำ”
- 1. โครงการฝนหลวง
- 2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
- 3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า
- 4. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
- 5. โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม
- 6. โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย
- 7. โครงการบรรเทาน้ำเน่าเสีย
- 8. โครงการแก้มลิง
- 3. การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำ
- เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สนองตอบปัญหาในทุกด้านและมีความยั่งยืน นอกจากการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จะต้องพิจารณาการจัดลำดับความสำคัญที่ตอบสนองต่อเป้าหมาย ทิศทาง การพัฒนาของประเทศในแต่ละด้านในภาพรวม และแนวโน้มการพัฒนาในอนาคต เช่น ด้านการเกษตร กำหนดเป้าหมายการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ เพื่อการส่งออก พืชพลังงาน ด้านการอุตสาหกรรม กำหนดเป้าหมาย ประเภท และขนาด ด้านสังคม กำหนดเป้าหมายเพื่อสนองความจำเป็นพื้นฐานและเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม ดังนั้นเป้าหมายการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำของประเทศจึงต้องพิจารณาร่วมกับเป้าหมายการพัฒนาด้านอื่น ๆ ของประเทศ รวมทั้งข้อจำกัดและความเป็นไปได้ในการลงทุน ดังแสดงตามรูปที่ 1
- รูปที่ 1 แนวคิดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
- 4. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป็นแผนพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560–2564) ซึ่งแปลงยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นทิศทางการพัฒนาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จึงมุ่งเตรียมความพร้อมและวางรากฐานในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกรอบวิสัยทัศน์และเป้าหมายอนาคตประเทศไทยในปี 2579 ซึ่งกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เป็นกรอบที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดภายใต้ระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ไป พิจารณาการประเมินสภาพแวดล้อมการพัฒนาทั้งจากภายนอกและภายใน ประเทศที่บ่งชี้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศ และการสะท้อนถึงโอกาสและความเสี่ยงในการที่จะผลักดันขับเคลื่อนให้การพัฒนาในด้านต่าง ๆ บรรลุผลได้ในระยะเวลา 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ทั้งนี้โดยได้คำนึงถึงการต่อยอดให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่องภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับต่อ ๆ ไป ซึ่งยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ คือ
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ปัจจุบันสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาและเป็นจุดอ่อนของการรักษา ฐานการผลิตและให้บริการ รวมทั้งการดำรงชีพที่ยั่งยืน ฐานทรัพยากรธรรมชาติถูกนำไปใช้ในการพัฒนาจำนวนมากก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ป่าไม้ลดลง ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม ความหลากหลายทางชีวภาพถูกคุกคาม ทรัพยากรนำยังมีส่วนที่ไม่สามารถจัดสรรได้ตามความต้องการ และมีความเสี่ยงในการขาดแคลนในอนาคต เกิดปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น จากการเข้าถึงและการจัดสรรการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและชุมชนเมือง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและต้นทุนทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความผันผวนและรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ และข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งทวีความเข้มข้น ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับภาระในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กระแสการแข่งขันทางการค้า ขณะที่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกหลัง ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกในอีก 15 ปี ข้างหน้า (ค.ศ. 2016-2030) จะส่งผลกระทบต่อแนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น ประเด็นท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้แก่ การสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เร่งแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมเพื่อลดมลพิษที่เกิดจากการผลิตและการบริโภค พัฒนาระบบบริหารจัดการที่โปร่งใสเป็นธรรม ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างมากขึ้น ต้องเร่งเตรียมความพร้อมในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- 1) วัตถุประสงค์
- 1.1 รักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและมีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
- 1.2 สร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ
- 1.3 บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และลดมลพิษให้มีคุณภาพดีขึ้น
- 1.4 พัฒนาขีดความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับมือกับภัยพิบัติ
- 2) เป้าหมายและตัวชี้วัด
- เป้าหมายที่ 2 สร้างความมั่นคงด้านน้ำ และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ให้มีประสิทธิภาพ บริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำให้มีความสมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบปัญหาจากการขาดแคลนน้ำควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำทั้งภาคการผลิตและการบริโภค ป้องกันและลดความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง
- 5. แผนและนโยบายการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา
- ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐมีความพยายามกำหนดแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์ ตลอดจนแผนแม่บทและแผนการปฏิบัติงานต่าง ๆ โดยมุ่งให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ พบว่าในช่วงก่อนการปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการที่หลากหลาย โครงสร้างการดำเนินการมีความซับซ้อนและทับซ้อน ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานและเป็นการวางนโยบายในลักษณะรวมศูนย์ (Centralization) ภายหลังการปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545 มีการถ่ายโอนภารกิจในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Decentralization) หากแต่ยังไม่มีการดำเนินการในลักษณะองค์รวม โดยแต่ละหน่วยงานราชการยังคงแยกกันบริหารตามภารกิจของตน
- ในที่นี้ได้รวบรวมแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานด้านน้ำที่มีการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ (Integration) และมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการ ดังแสดงในตารางที่ 1
- ตารางที่ 1 แผนและนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา (ที่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ)
พ.ศ. นโยบาย/แผน สาระสำคัญ ข้อจำกัด/อุปสรรค 2543 นโยบายน้ำแห่งชาติ(มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2543) เป็นการกำหนดวิสัยทัศน์เรื่องน้ำของชาติ ว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 ประเทศไทยจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ โดยมีระบบการบริหารจัดการองค์กร ระบบกฎหมายในการใช้ทรัพยากรน้ำที่เป็นธรรม ยั่งยืน โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและการมีส่วนร่วมในทุกระดับ เป็นนโยบายในภาพรวมทั้งประเทศ ไม่ได้ลงรายละเอียด ระดับลุ่มน้ำ 2550 แผนการบรรเทาอุทกภัยระยะกลางและระยะยาว (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2550) เป็นแผนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในมิติของการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีกรอบแผน/กรอบงบประมาณในแต่ละลุ่มน้ำ พร้อมหน่วยงานราชการดำเนินงานที่ชัดเจน ดำเนินการได้เพียงร้อยละ 25 ในภาพรวมตามเป้าหมายของแผน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทำให้ขาดการสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง 2550 แผนพัฒนาพื้นที่ชลประทาน 60 ล้านไร่ (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550) แผนพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพ 60 ล้านไร่ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เช่น ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วม การยอมรับ และการตอบสนองต่อความต้องการชุมชนและประชาชน การบริหารจัดการที่แยกส่วน 2554 กรอบน้ำ 60 ล้านไร่ (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554) การพัฒนาลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมีกรอบแผนงานที่ชัดเจนและมอบหมายหน่วยงานหลัก (กรมชลประทาน) บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแผนงาน ขาดการจัดลำดับความสำคัญและการเตรียมความพร้อมของโครงการ โดยเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมและควรต้องมีการศึกษารายโครงการเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รายละเอียดระดับโครงการ 2550-2554 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) เน้นการเพิ่มขีดความสามารถของการเก็บกักน้ำ การปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ การพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ การพัฒนาระบบกระจายน้ำผิวดินและใต้ดิน และการวางระบบสารสนเทศการจัดการน้ำ เน้นการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ไม่ชัดเจนในเรื่องความเชื่อมโยงของการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งต้องเน้นความเกี่ยวข้องกันทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 2555-2559 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) เน้นการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ครอบคลุมการอนุรักษ์ พัฒนา และฟื้นฟูแหล่งน้ำ ทั้งผิวดินและบาดาล แหล่งน้ำชุมชน การเพิ่มพื้นที่ชลประทานและประสิทธิภาพ ไม่มีการกำหนดแผนหลักและแผนปฏิบัติ 2555 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555) บรรเทาแก้ไขปัญหาอุทกภัยในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2555 ประกอบด้วยแผนปฏิบัติการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยระยะเร่งด่วนในปี พ.ศ. 2555 และแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน ขาดการมีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดท้าแผน - แหล่งอ้างอิง: 1. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- 2. กรมทรัพยากรน้ำ
นิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
- การชลประทาน หมายความว่า “กิจการที่รัฐบาลจัดทำเพื่อส่งน้ำ จากทางน้ำหรือแหล่งน้ำไปใช้ ในการเพาะปลูก และหมายความถึงการป้องกันการเสียหายแก่การเพาะปลูกอันเกี่ยวกับน้ำ ทั้งรวมถึงการคมนาคมทางน้ำ ซึ่งอยู่ในเขตชลประทานนั้นด้วย” ซึ่งจะเห็นว่า การชลประทานในพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ นอกจากจะหมายถึง การส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกแล้ว ยังให้หมายรวมถึงกิจการประเภทอื่น ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก อีก 3 ประเภท คือ การเก็บน้ำ การระบายน้ำ และการบรรเทาอุทกภัยด้วย ส่วนความหมายในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง ยังมีการคมนาคมทางน้ำ เพิ่มขึ้นมาอีกประเภทหนึ่งด้วย
- น้ำประปา หมายถึง น้ำทีมีคุณภาพเหมาะสมที่จะใช้ดื่มได้อย่างปลอดภัย โดยมีระบบการจ่ายน้ำไปตามเส้นท่อ เพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้รับน้ำเพียงพอแก่ความต้องการ คุณลักษณะทั่วไปของน้ำประปาควรจะมีคลอรีน(Cl2 )อยู่ในน้ำด้วยเสมอ แม้ว่าน้ำประปาจะมีคุณภาพดี มีความใสและสะอาดผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพแล้ว หรือเป็นน้ำประปาที่ผ่านกระบวนการผลิตมาโดยวิธีใดก็ดี จะต้องมีการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน ซึ่งถือเป็นความต้องการขั้นต่ำสุดของการผลิตน้ำประปา ดังนั้น ในน้ำประปาจะมีก๊าซคลอรีนละลายปนอยู่ด้วยเสมอ จึงจะถือได้ว่าฆ่าเชื้อโรคได้พอเพียง
- น้ำผิวดิน หมายถึง ส่วนของน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นดินแล้วไหลลงสู่ที่ต่ำตามแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ หนอง และบึง น้ำผิวดินนี้จะรวมทั้งน้ำที่ไหลล้นจากใต้ดินเข้ามาสมทบด้วย ดังจะเห็นได้จากลำธารหรือลำห้วยที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดปีไม่ว่าจะมีฝนตกหรือไม่ ปริมาณน้ำที่ไหลในลำห้วยหรือลำน้ำ ในระหว่างฤดูแล้ง เป็นน้ำที่สะสมไว้ใต้ดินและซึมซับมาตลอดเวลาที่ฝนไม่ตก การไหลนองบนพื้นดิน ทำให้น้ำผิวดินได้รับความสกปรกจากสิ่งแวดล้อมในรูปต่างๆ กัน น้ำผิวดินอาจมีความขุ่นและสารอินทรีย์สูง ปริมาณเกลือแร่ในน้ำอาจมีมากหรือน้อย นอกจากนี้น้ำฝนยังชะล้างสารพิษต่างๆ จากบริเวณเกษตรกรรมให้ไหลมาปนเปื้อนในน้ำผิวดิน สารพิษเหล่านี้ ได้แก่ โลหะหนัก ไนเทรดฟอสเฟต ยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปล่อยน้ำเสียที่ประกอบด้วยสารพิษหลายชนิดก็จะไหลมาปนเปื้อนอยู่ในน้ำผิวดินได้เช่นกัน
- น้ำบาดาล หมายถึง น้ำผิวดินที่ซึมผ่านชั้นดินต่างๆ จนไปถึงขั้นดินหรือชั้นหินทีไม่ซึมน้ำ และเกิดการสะสมอยู่ระหว่างช่องว่างของเนื้อดิน โดยเฉพาะชั้นดินเป็นกรวด ทราย หิน ปริมาณของน้ำที่ขังอยู่ในชั้นของดินดังกล่าวจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้นในฤดูฝนและลดปริมาณลงในฤดูแล้ง น้ำบาดาลจะมีการถ่ายเทระดับได้เช่นเดียวกับน้ำผิวดิน
- คุณภาพน้ำ หมายถึง คุณภาพในแหล่งน้ำ อาจเป็นแม่น้ำลำธาร อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทะเล ตลอดจนแหล่งน้ำใต้ดิน ความหมายของคุณภาพน้ำสำหรับผู้ใช้น้ำแต่ละกลุ่มจึงมีความแตกต่างกัน
- แหล่งอ้างอิง : 1. กรมทรัพยากรน้ำ
- 2. พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485
- 3. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล